ตำบลพระแท่น “ชุมชนเมืองผสานวิถีชนบทและเกษตรกรรม สู่วิถีลดเหล้าสร้างสุข” ตั้งอยู่ที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่เขตเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์พร้อมทั้งมีพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปคือแท่นศิลารอยพระพุทธบาท เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในด้านการพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะหลากหลายมิติ ทั้งด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมอุบัติเหตุ เกษตรยั่งยืน การท่องเที่ยวชุมชน และการจัดการขยะ เป็นต้น ตำบลพระแท่นจึงเป็นอีกชุมชนที่มีความน่าสนใจเหมาะแก่การเรียนรู้และขยายบทเรียนไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั้งในมิติความเป็นชุมชนเมืองและมิติความเป็นชนบท
ชุมชนตำบลพระแท่น เป็นหนึ่งในสิบหกตำบลของอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เดิมเรียกว่าพระแท่นดงรัง สืบเนื่องจากมีหลักฐานแท่นศิลารอยพระพุทธบาท มีต้นรัง ๒ ต้น โอบรอยแท่นพระพุทธบาท ชาวบ้านละแวก นั้นจึงได้มีการตั้งชื่อหมู่บ้านและชื่อวัด (ปัจจุบันหมู่ที่ ๑๐ ถูกเรียกว่า “พระแท่นดงรัง”) ต่อมามีการจัดตั้งชื่อตำบลอย่างเป็นทางการว่า “ตำบลพระแท่น” แต่ชื่อวัดยังใช้คำว่า “พระแท่นดงรัง” ปัจจุบันคือเทศบาลตำบล พระแท่นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคกลางตะวันตก จากฐานข้อมูลตำบล (TCNAP) พบว่ามีครัวเรือนประชากรราว ๒,๐๖๙ ครอบครัว มีจำนวนประชากร ๔,๕๕๔ คน (ผู้หญิง ๒,๓๘๔ คน ผู้ชาย ๒,๑๗๐ คน) มีบริเวณพื้นที่ ๑๐.๖ ตารางกิโลเมตร ลักษณะพื้นที่เป็นเมืองกึ่งชนบทมีสภาพที่เหมาะสมกับการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ดี สภาพพื้นที่ในตำบลมีถนนที่เป็นเส้นทางผ่านเชื่อมต่อกับ ๓ จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี-จังหวัดสุพรรณบุรี-จังหวัดนครปฐม มีเส้นทางที่เชื่อมต่อและจุดตัดกับแนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีระยะทางประมาณ ๙๖ กิโลเมตร
สถานการณ์และพฤติกรรมด้านการบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่เทศบาลตำบลพระแท่น โดยวิเคราะห์จากระบบข้อมูลตำบล (Thailand Community Network Appraisal Program-TCNAP ทำให้พบว่าปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เทศบาลตำบลมีข้อมูลผู้ดื่มสุรา จำนวน ๔๙๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๔.๓๕ ซึ่งก็ถือได้ว่าประชากรมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์สูงพอสมควร มีลักษณะการดื่มเป็นไปแบบชินชาจนรู้สึกเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพโรคเรื้อรัง, ปัญหาอุบัติเหตุจากความเมาและปัญหาคุณภาพในการทำงานลดลง เป็นต้น ลักษณะการดื่มเหล้าของประชากรชุมชนส่วนมากเป็นการดื่มในงานต่างๆ และการตั้งวงเหล้าหลังเลิกงานจนเป็นที่มาของปัญหาการทะและวิวาทและปัญหาความรุนแรง รวมทั้งเกิดผลกระทบต่อเนื่องถึงระบบสุขภาพและอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความเข้าใจในสภาพปัญหาต่างๆ ถูกเริ่มต้นจากกิจกรรมการสำรวจและเยี่ยมบ้านประชากรในพื้นที่ตำบล เป็นที่มาของการค้นพบปัญหาผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่ชัดเจนมากขึ้น กล่าวได้ว่าการทำความเข้าใจในสภาพปัญหาของการดื่มแอลกอฮอล์อย่างลึกซึ้งด้วยการใช้ระบบข้อมูลตำบลและการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านการสำรวจจากสถานการณ์จริงทำให้เกิดฐานข้อมูลและรู้ความเข้าใจประเด็นปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์กับปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพ จึงนำมาสู่การขยายความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาอย่างจริงจังผ่านกิจกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
การทำงานขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร คณะทำงานเทศบาลตำบลพระแท่นให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมช่วยเลิกเหล้าโดยชุมชน มีการพัฒนาสมุนไพรช่วยเลิกเหล้าจากภูมิปัญญาชุมชนและฐานทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยการนำเอาสมุนไพร “รางจืด” ซึ่งมีสรรพคุณล้างพิษแก้เมามาส่งเสริมให้บุคคลที่ต้องการลดเหล้าและสมุนไพร “โปร่งฟ้า” ใช้เคี้ยวใบสดซึ่งมีสรรพคุณแก้อาการอยากเหล้าอยากบุหรี่ รวมทั้งได้มีการพัฒนางาน “ตลาดคีย์โฮ” หรือตลาดนัดขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์เกษตรปลอดภัยขึ้นในพื้นที่ตำบล ทำการผลิตพืชผักผสมผสานจากแปลงคีย์โฮหรือการนำเอาขยะสดในครัวเรือนไปทำปุ๋ยอินทรีย์และนำผลผลิตมาขายในตลาดสร้างรายได้นัดละประมาณ ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท เป็นการเชื่อมโยงงานรณรงค์ลดเหล้าเข้ากับการพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ โดยผู้ผลิตจะต้องเข้าร่วมในโครงการลดละเลิกการดื่มสุราและการทำการเกษตรแบบปลอดภัยเป็นการส่งเสริมสัมมาชีพพร้อมๆ กับการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นผ่านกิจกรรมตลาดคีย์โฮ ซึ่งในตลาดจะมีกิจกรรมรณรงค์ลดละเลิกการดื่มแอลกอฮอล์, การคัดแยกและจัดการขยะครัวเรือน, การรณรงค์ลดการใช้โฟมและพลาสติก และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ตามโอกาส ตลาดคีย์โฮจึงเป็นทั้งแหล่งจำหน่ายอาหารปลอดภัยและเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ส่งเสริมการลดการดื่มแอลกอฮอล์และสามารถยกระดับพัฒนาศักยภาพคนให้ขึ้นมาเป็นวิทยากรนักถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรรวมทั้งเป็นนักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมร่วมไปด้วย
“ขยับ เขย่า เขยื้อน” คือแนวคิดที่เป็นหัวใจของการพัฒนาความร่วมมือ ๔ องค์กรหลัก ที่คณะทำงาน ขับเคลื่อนตำบลพระแท่น ใช้เป็นแนวทางในการทำงานสร้างความร่วมมือในท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์และการลดอุบัติเหตุในชุมชน ในภาพรวมการขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาความร่วมมือได้ดำเนินไปโดยมีทีมทำงานของเทศบาลพระแท่นเป็น แกนนำหลัก และมีการขยายความร่วมมือขึ้นในระดับอำเภอท่ามะกาหรอที่เรียกกันว่าจากนโยบายสู่การปฏิบัติ เป็นการขับเคลื่อนงานร่วมกับนายอำเภอท่ามะกาด้วยการลงนามร่วมกับส่วนราชการฝ่ายปกครองและท้องที่และร่วมกันปฏิญาณตน และจากการทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่องทำให้เกิดกระแสตื่นตัวด้านสุขภาพ เห็นได้ชัดจากการเกิดกลุ่มคนต้นแบบลดละเลิกแอลกอฮอล์ที่ร่วมมือกันของประชากรในท้องถิ่นที่ลุกขึ้นมาดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้นผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ปัญหาอุบัติเหตุในชุมชนลดลง เพราะการควบคุมปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนจากสาเหตุต้นตอคือการดื่มแอลกอฮอล์ และให้ความสำคัญกับการการสร้างเส้นทางปลอดภัยโดยปรับปรุงจุดเสี่ยงต่างๆ ปรับปรุงซ่อมแซมถนน ติดตั้งป้ายเตือนจุดอันตรายและทำด่านชุมชน เป็นต้น ชุมชนใสใจอาหารปลอดภัย จุดเด่นที่น่าสนใจคือการเชื่อมโยงประเด็นการทำงานให้เป็นองค์รวม มีการเชื่อมโยงประเด็นการควบคุมแอลกอฮอล์ให้เข้ากับปัญหาสุขภาพอื่นๆ มีการส่งเสริมการพัฒนากลุ่มเกษตรปลอดภัยโดยสร้างเงื่อนไขชักชวนกลุ่มคนที่ลดละเลิกแอลกอฮอล์ให้เข้ามาร่วมกันทำเกษตรปลอดภัยและสร้างตลาดคีย์โฮหรือตลาดนัดผลผลิตเพื่อสุขภาพ รวมทั้งชุมชนสนใจการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตำบลแห่งนี้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การสร้างกระแสการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจ มีการออกสำรวจการใช้จักรยานในชุมชนซึ่งพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มีรถจักรยานจึงเริ่มรณรงค์ปลุกการใช้และขับเคลื่อนกิจกรรมเส้นทางปั่นจักรยาน
กล่าวได้ว่าภาคีความร่วมมือขยายผลสู่การพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง การขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่องของชุมชน ตำบลพระแท่น ทำให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายทั้งในเรื่องการการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุ รวมทั้งมีกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ เช่น กลุ่มเกษตรปลอดภัย, ตลาดนัดคีย์โฮ, ตลาดนัดปลอดแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์, ชมรม จักรยานรักษ์โลกรกสุขภาพตำบลพระแท่น, กลุ่มบุคคลต้นแบบคนสู้เหล้า, กลุ่ม อสม. ตลอดจนภาคีเครือข่ายในระดับตำบล เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. อปภร. เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ภาคีเครือข่ายในการพัฒนาที่สำคัญของชุมชนตำบล จึงนับได้ว่าชุมชนมีต้นทุนสำคัญอีกอย่างในการทำงานที่ ยั่งยืนในระยะยาวและในกลุ่มกิจกรรมและกลุ่มคนต่างๆ สามารถพัฒนาต่อยอดงานของตนเองได้ซึ่งจะทำให้ เกิดการเชื่อมโยงประสานกันและขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้ต้นทุนศักยภาพและพลังของตนเองนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นเดียวกับอีกหลายชุมชนท้องถิ่นในประเทศนี้