ชุมชนอารยธรรมโบราณนาข่า…ตำบลลดอุบัติเหตุสร้างสุขภาวะ
หากนึกถึงชุมชนที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและโบราณคดีที่มีความโดดเด่นชุมชนตำบลนาข่าถือเป็นอีกแห่งที่หลายคนคงนึกถึง นาข่ามีความเป็นมาของการก่อตั้งบ้านเรือนยาวนานหลายพันปี ชุมชนแห่งนี้เดิมที่เป็นบ้านนาข่ามีประวัติความเป็นมาที่เล่าขานสืบกันยาวนาน
หากนึกถึงชุมชนที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและโบราณคดีที่มีความโดดเด่นชุมชนตำบลนาข่าถือเป็นอีกแห่งที่หลายคนคงนึกถึง นาข่ามีพื้นฐานความเป็นมาของการก่อตั้งบ้านเรือนยาวนานหลายพันปี ชุมชนแห่งนี้เดิมที่เป็นบ้านนาข่ามีประวัติความเป็นมาที่เล่าขานสืบกันว่าเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๕๔ มีพระธุดงค์มาปักกลดจำพรรษา ณ บ้านนาข่าซึ่งแต่เดิมเป็นวัดร้างมีการพบเห็นฐานพร้อมพระพุทธรูปแต่ไม่มีเศียรและพบสิ่งมหัศจรรย์ตามความเชื่อของคนในท้องถิ่นคือรูเล็กๆ อยู่ด้านหลังของอุโบสถเก่าแก่ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรูพญานาค มีคำเล่าขานอีกว่าหลวงปู่พระธุดงค์ท่านนั้นได้นิมิตว่าวัดแห่งนี้เป็นที่อาศัยของพญานาคเพศเมียจึงตั้งชื่อว่า “วัดนาคาเทวี” และตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านนาคากล่าวกันว่าต่อมาชื่อหมู่บ้านถูกเรียกผิดเพี้ยนเป็นบ้านนาข่า ที่แห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่มีการสร้างบ้านแปลงเมืองนับพันปีมีการค้นพบโครงกระดูกและวัตถุโบราณที่มีอายุราว ๓๕๐๐ ปี ซึ่งมีการเก็บรักษาไว้ในวัดนาคาเทวีอยู่ติดกับบริเวณที่เป็นตลาดผ้าพื้นบ้าน (ตลาดผ้านาข่า) จึงนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของจังหวัดอุดรธานี สมัยก่อนบ้านนาข่าขึ้นอยู่กับตำบลบ้านขาว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ต่อมาเมื่อปี๒๕๒๕ มีประชากรเพิ่มขึ้นจึงได้แยกออกมาจากตำบลบ้านขาว ปี๒๕๓๗ ได้ประกาศตั้งเป็นสุขาภิบาลนาข่าประกอบด้วย ๘ หมู่บ้านขนาดใหญ่ ต่อในปี๒๕๔๒ ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลนาข่า ปัจจุบันมี ๒,๒๘๘ หลังคาเรือน จำนวนประชากร ๖,๐๑๒ คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมผ้าพื้นเมือง ชุมชนแห่งนี้ยังมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แข็งแรงพร้อมทั้งมีหลักศรัทธาทางพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวผู้คนในชุมชน สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้คือผ้าลายขิดที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ปัจจุบันตำบลนาข่ามีตลาดผ้าพื้นบ้านขนาดใหญ่เป็นแหล่งท่องเทียวและการค้าขายผ้าที่สำคัญในจังหวัดอุดรธานี สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและผู้ประกอบการขนาดเล็กจำนวนมาก
เทศบาลตำบลนาข่ามีพื้นที่ประมาณ ๘,๓๔๓.๗๕ ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย ๒,๕๐๓ ไร่ มีพื้นที่การเกษตรประมาณ ๕,๘๔๐ ไร่ ที่สาธารณะประโยชน์สำคัญ (ป่าชุมชน) รวม ๔ แหล่ง พื้นที่ราว ๒๐๐ ไร่ ป่าช้าหรือป่าชุมชนยังคงได้รับการดูแลรักษามีมาตรการควบคุมโดยชุมชนและมีคณะกรรมการหมู่บ้านและผู้นำ มีลำห้วยค้อและลำห้วยวังบัวเป็นแหล่งน้าสาธารณะที่มีความสำคัญของชุมชน มีหนองน้ำสำคัญ คือ หนองดอนวัว (มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๒๔ ไร่) เป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่สามารถทำการเกษตรและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาพร้อมทั้งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และเทศบาลตำบลนาข่าเริ่มขยายเป็นเมืองมากขึ้นมีปริมาณขยะเฉลี่ยต่อวันๆ ราว ๓ ตันเศษ เทศบาลมีมาตรการจัดการ ขยะด้วยโครงการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ส่วนขยะที่เหลือจากการคัดแยกแล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้อีกจะนำจัดการที่บ่อกำจัดขยะของเทศบาลนครอุดรธานี สิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนเทศบาลตำบลจะนำไปสู่การบำบัดกำจัดเชื้อโรคและผลิต เป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในการเกษตร ปัจจุบันจึงเป็นเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับพื้นที่ชุมชนและหน่วยงานที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานการจัดการปัญหาขยะที่สำคัญแห่งหนึ่ง
นับจากปี ๒๕๕๙ จังหวัดอุดรธานีมีการขยายเมืองอย่างรวดเร็วชุมชนในเทศบาลตำบลนาข่ามีสภาพเป็นชุมชนขยาย และมีลักษณะเป็นเมืองมากขึ้นสภาพชุมชนจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จึงมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและจัดการตนเอง ปี ๒๕๕๗ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ร่วม” กับศูนย์จัดการเครือข่ายเทศบาลตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (เป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกับสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำนัก๓) ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการพัฒนาที่ที่เรียกกันว่าการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สิ่งสำคัญคือมีการนำระบบข้อมูลเข้ามาใช้เพื่อออกแบบการพัฒนาและขับเคลื่อนงานกิจกรรมต่างๆ เช่น การนำข้อมูลผู้สูงอายุผู้ด้อยโอกาสมาวางแผนการทำงานของเทศบาลส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาและเกิดกระบวนการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ทอดทิ้งคนชายขอบในชุมชน การพัฒนาระบบข้อมูลตำบลอย่างต่อเนื่องยังทำให้เกิดความเข้าในในสถานการณ์ปัญหา ซึ่งพบว่าประชาชนที่มีการเจ็บป่วยเรื้อรังและพิการมาก ถึง ๑,๐๔๑ คน ปัญหาสุขภาพจากโรค เรื้อรังส่วนใหญ่คือ โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ ๔๗.๑๗ โรคปวดข้อหรือข้อเสื่อมร้อยละ ๑๙.๗๙ และพิการทางการ เคลื่อนไหว ร้อยละ ๑๖.๐๔ จากฐานข้อมูลยังพบผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง จำนวน ๘๙๖ คน เป็นมีผู้พฤติกรรมดื่มสุราเป็นประจำ ๓๔๓ คน มีเป็นเกษตรกรที่ใช้สารเคมีโดยป้องกันตนเองไม่เหมาะสมร้อยละ ๓๗.๘๐ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ อื่นๆ อีกมาก ซึ่งกล่าวได้ว่าการพัฒนาระบบฐานข้อมูลตำบลคือกลยุทธ์ที่ทำให้คนในชุมชนเข้าใจสถานการณ์และเข้าใจปัญหาของชุมชนตนเอง
เทศบาลตำบลนาข่า ได้ใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลชุมชนโดยมีการจัดการด้านสุขภาพร่วมกับโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นความร่วมมือกันในด้านงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เน้นการพัฒนาที่ตัวอาสาสมัครสาธารณสุขประจาหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อทำงานเข้าถึงประชาชนในการดูแลรักษาให้ได้มากที่สุด มีการทำงานเชิงรุกเพื่อระงับโรค และให้ความรู้เรื่องโรคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สร้างความร่วมมือกับกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อสนับสนุนงบประมาณจัดการด้านการส่งเสริมสุขภาพ มีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาสุขภาพและนำมาใช้เพื่อลดความต้องในการสูบบุหรี่และสุราโดยใช้รากมะยมตัวเมียต้มเป็นชาดื่ม ชาชงรางจืดและชาชงหญ้าดอกขาว มีการบำบัดด้วยวิธีการนวดกดจุดที่เท้าด้วยความรู้แพทย์แผนไทยจาก รพ.สต. มีกิจกรรมกลุ่มสามมิตรพิชิตเบาหวาน มีกิจกรรมสุขศาลาหมู่บ้านได้มาตรฐาน กิจกรรมคลินิกเลิกเหล้าและบุหรี่ที่ รพสต.นาข่า และกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เป็นต้น
เทศบาลนาข่าคือชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องการรณรงค์ลดการดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากเขตพื้นที่ของเทศบาลนาข่าตั้งอยู่ขนานกับทางหลวงหมายเลข ๒ หรือที่เรารู้จักกันว่าถนนมิตรภาพ (ช่วงจังหวัดอุดรธานีถึงจังหวัดหนองคาย) ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักที่มีรถสัญจรเดินทางจำนวนมากรวมทั้งมีถนนเส้นรองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือคำชะโนด เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวและเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ จึงมักมีอุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นประจำโดยเฉพาะช่วงวันหยุดเทศกาลสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมาก กลยุทธ์สำคัญในการป้องกันการสูญเสียที่ชุมชนนำมาใช้คือกิจกรรม “เคาะประตูบ้านหรือด่านครอบครัว” เป็นกิจกรรมที่นำโดยทีมงาน อสม.เชิงรุก คือปฏิบัติการให้คำแนะนาการแก่ครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุและเป็นการป้องกันความรุนแรงในช่วงเทศกาลวันหยุด คือกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้นำและชุมชนที่เห็นถึงความสำคัญในการสกัดปัญหาอุบัติเหตุจากต้นตอสาเหตุคือครอบครัวและหมู่บ้าน กระบวนการสำคัญคือการเดินเข้าหาเคาะประตูบ้านทุกหลังเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับสมาชิกในครอบครัว เป็นการ อธิบายชี้แจงและนำเสนอข้อมูลให้เห็นข้อเท็จจริงของปัญหาอุบัติเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ การเคาะประตูบ้านคือ กระบวนการแก้ปัญหาที่มีความลึกต้องอาศัยความตั้งใจจริง ความร่วมมือและความอดทนเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ และทำให้แต่ละครอบครัวยอมรับให้ความร่วมมือ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายผลเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังระดับหมู่บ้านและตำบล รวมทั้งมีการทำข้อตกลงหรือสัญญาเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังป้องกันมิให้สมาชิกในครัวเรือนขับรถในขณะที่มีการดื่มเหล้า
สิ่งสำคัญที่เราจะพบเห็นจากชุมชนแห่งนี้คือ การมีผู้นำที่เป็นนักประสาน นักประนีประนอม นักเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนา ตามมาด้วยการมีภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็งในชุมชนท้องถิ่นและการแบ่งบทบาทภารกิจงานตามความชำนาญแต่สามรถเชื่อมประสานกันได้ในทางเป้าหมายและความต้องการที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้คือศักยภาพของชุมชนนับเป็นต้นทุนพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา โดยมีกระบวนการทำงานพัฒนาที่เริ่มต้นจากการสร้างระบบฐานข้อมูลตำบลให้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรู้จากพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นเทศบาลตำบลนาข่า นำมาสู่การทำความเข้าใจสภาพที่แท้จริงของชุมชน เข้าใจปัญหาท้องถิ่นของตนเองอย่างถ่องแท้ เข้าใจพื้นฐานทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การวางแผนและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ทั้งหมดนั้นคือภาพสะท้อนว่าชุมชนท้องถิ่นมีพลังแห่งการพัฒนาและมีศักยภาพอยู่อยากมากมาย ขาดแค่เพียงระบบการเมืองส่วนกลางที่ยังไม่คืนอำนาจการจัดการตนเองกลับคืนสู่ชุมชน มันหมายถึงการมีประชาธิปไตยระดับรากฐานคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์และสามารถรับมือกับสถานการณ์ปัญหาของตนเองได้อย่างยั่งยืน