ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องร่วมมือกันผลักดันแนวทางการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังและเข้าใจ และหากเราต้องการที่จะเห็นเกษตรกรรายย่อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขยิ่งขึ้น คงหนีไม่พ้นที่จะต้องลงมือทำงานหนักให้มากขึ้นหรือให้มากกว่าการติดป้ายแสดงผลงาน
กระแสการส่งเสริมผลักดันให้มีตลาดนัดเกษตรกรเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลายมาตรการและนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และดูเหมือนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะขะมักเขม้นเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายคืนความสุขให้ประชาชนตามคำสั่งเป็นอย่างดี โครงการตลาดนัดเกษตรกรทุกจังหวัดของรัฐบาลชุดนี้ต้องการที่จะพัฒนาภาคเกษตรด้วยการลดช่องว่างพ่อค้าคนกลาง เพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าการเกษตรที่ปลอดภัยและมีคุณภาพส่งตรงถึงมือผู้บริโภคหรือผ่านพ่อค้าคนกลางให้น้อยที่สุด และดึงภาครัฐเอกชนในระดับจังหวัดให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยได้นำร่องเปิดตัว 5 แห่งใน 5 จังหวัด ภายใน 14 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมา และมีแผนขยายผลไปยัง 77 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2558 ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีนโยบายให้ทุกจังหวัดมีตลาดนัดเกษตรกรโดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ ได้รวบรวมสินค้าโดดเด่นในพื้นที่มาจำหน่ายในเขตเมืองที่ประชาชนมีความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้า
เกษตรกรมีผลผลิตจำหน่ายจริงหรือ
อันที่จริงโครงการตลาดนัดเกษตรกร มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเพราะดูเหมือนว่ามันได้เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจเกษตรกรอย่างดีในระดับหนึ่ง เช่น ต้องการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร, สร้างการผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ, และการจำหน่ายขายตรงไปยังผู้บริโภค หากจะทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวอาจพอวิเคราะห์ได้ว่าในปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยโดยทั่วไปยังคงมีพื้นฐานการเกษตรแบบเชิงเดียวอยู่มาก คือปลูกพืชชนิดเดียวในที่ดินของครอบครัว เช่น ข้าว มันสำประหลัง อ้อย ยางพารา ข้าวโพด เป็นต้น ทั้งยังมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดวัชพืชเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้จึงเป็นผลผลิตเชิงเดี่ยวไม่หลากหลายและถูกป้อนเข้าสู่ตลาดทางเดียวไม่มีทางเลือกอื่นที่ผลผลิตจะไปต่อได้ และมักเป็นผลผลิตที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป อีกทั้งยังมีความเสียงปนเปื้อนสารเคมี จึงเป็นเรื่องยากที่จะส่งตรงถึงมือผู้บริโภคได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เกษตรกรไม่สามารถขายผลผลิตของตนเองในตลาดขายตรงได้ ในขั้นต้นจึงกล่าวได้ว่าโอกาสในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรมีความเป็นไปได้น้อยมาก และหากถามต่อไปว่าผลผลิตประเภทใดที่จะส่งตรงเข้าสู่ตลาดดังกล่าวตามนโยบายภาครัฐ ก็คงหนีไม่พ้นผลผลิตในกลุ่มเดิมที่ผ่านการพัฒนามาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะผลผลิตในเครือข่ายโอทอป และกลุ่มชาวบ้านที่มีต้นทุนเดิมในการดำเนินการพัฒนาสินค้าและผลผลิตต่างๆ เช่น กลุ่มผู้ผลิตข้าวสาร, กลุ่มผู้ผลิตผ้าไหม, กลุ่มผู้ผลิตหัตกรรม เป็นต้น ซึ่งโดยมากกลุ่มต่างๆเหล่านี้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของตนเองร่วมกับหน่ายงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้วเป็นปกติวิสัย การเพิ่มขึ้นของตลาดนัดเกษตรกรของรัฐบาลปัจจุบันจึงเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการตลาดตามกรอบแผนงานเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ยังไปไม่ถึงกลุ่มเกษตรกรรายย่อยทั่วๆไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อยเพราะไม่มีการพัฒนาระบบการผลิตและสร้างสินค้าเพื่อนำเข้าสู่ตลาดตามที่รัฐมุ่งหวัง
การส่งเสริมการเกษตรภาครัฐไม่สอดคล้องแนวทางตลาดเกษตรกร
กล่าวได้ว่าในปัจจุบันทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาระบบการเกษตรบ้านเรายังคงให้น้ำหนักไปที่เกษตรอุตสาหกรรมอยู่มาก ซึ่งโดยระบบการผลิตของเกษตรอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปเพื่อผลิตเชิงเดี่ยวปริมาณมากๆ จึงมีการกำหนดให้มีการใช้สารเคมีและเครื่องมือการเกษตรขนาดใหญ่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งยังมีลักษณะของเกษตรแบบพันธสัญญาหรือระบบผูกขาดของทุนอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ ระบบดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสวนทางกับแนวคิดตลาดเกษตรกรและเกษตรอินทรีย์ เพราะแนวทางอย่างหลังนี้มุ่งเน้นไปที่ระบบการผลิตแบบยังยืน โดยสร้างพื้นฐานการเกษตรของฟาร์มขนาดเล็กของชาวนารายย่อย ที่สร้างฐานการผลิตแบบผสมผสานและหลากหลาย รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และการแปรรูปผลผลิตจากหน่วยการผลิตขนาดเล็ก ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพึ่งพาและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ลดการพึ่งพาสารพิษสารเคมีทางการเกษตรและพูดถึงความมั่นคงทางด้านอาหารทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเรามีผู้ผลิตรายเล็กๆอยู่กี่มากน้อยในปัจจุบัน แล้วรัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการเกษตรของชาวนารายย่อยไปในทิศทางใด
ประสบการณ์ตลาดชาวนาของภาคประชาสังคม
ถ้าเคยเดินตลาดเช้าหรือเย็นในท้องถิ่นตามจังหวัดต่างๆ ก็มักจะพบเห็นแผงค้าขายเล็กๆกระจายอยู่ตามพื้นที่ตลาดสดทั่วๆไป ซึ่งผู้ค้าเป็นเกษตรกรที่เดินทางมาจากหมู่บ้านไม่ห่างไกลมากนักจากตัวตลาด ในแผงค้าขายขนาดเล็กเราจะพบผลผลิตที่เกษตรกรมักปลูกขึ้นเองหรือไม่ก็เป็นจำพวกของป่าหรือเก็บได้ตามหัวไร่ปลายนา เช่นพืชผักพื้นบ้านต่างๆ พื้นที่การค้าขายดังกล่าวนับได้ว่าเป็นตลาดขายตรงของจริงของเกษตรกรรายย่อยเป็นการสร้างรายได้จากการผลิตที่จับต้องได้ถึงแม้จะสร้างเม็ดเงินได้ไม่มากนัก และนอกจากนี้ยังมีตลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาชนบทหลากหลายรูปแบบ เช่น ตลาดนัดสีเขียว หรือตลาดของผู้ผลิตที่จำหน่ายผลผลิตจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของตนเอง มีการนำเอาผลผลิตการเกษตรที่หลากหลายนำมาจำหน่ายรวมทั้งผลผลิตแปรรูปต่างๆ บนแนวคิดเรื่องการสร้างรายได้เกษตรกร สร้างพื้นที่อาหารปลอดภัย และสร้างความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมในระดับท้องถิ่น ปัจจุบันแนวทางตลาดนัดสีเขียวขยายตัวออกไปมาก ในหลายจังหวัดใช้เป็นแนวทางการพัฒนาช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม คงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องย้อนกลับไปดูว่าตลาดเกษตรกรหรือตลาดนัดสีเขียวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะมันจะช่วยสะท้องประเด็นสำคัญของกระบวนการพัฒนาที่ว่า “ก่อนสร้างตลาด ต้องสร้างการผลิต และ ก่อนสร้างตลาด ต้องสร้างความร่วมมือ” ตลาดนัดเกษตรกรตามนโยบายจะเกิดขึ้นไม่ได้หากหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ทำงานส่งเสริมการพัฒนาการผลิตอย่างเข้าใจ และนโยบายหรือคำสั่งก็ไม่สามารถสร้างตลาดเกษตรกรได้ด้วยเช่นเดียวกัน
จะคืนความสุขให้เกษตรกร หรือสร้างสวนสนุกให้ใคร
ขอสังเกตท้ายสุดแบบฟันธงจึงอยู่ที่ว่า ตลาดนัดเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาเกษตรกรได้อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่เราพบเห็นในช่วงเวลาที่ผ่านมาการดำเนินงานเป็นเพียงแค่การต้อนเอาเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตเดิมๆไปแสดงตัวในพื้นที่ผลงานของหน่วยงานภาครัฐและมักจะจบลงด้วยการถ่ายรูปเขียนรายงานส่งต้นสังกัด และหากในระดับจังหวัดมีมากกว่าหนึ่งตลาดเกษตรกรก็จะถูกเกณฑ์ให้หมุนเวียนไปออกงาน หรือไม่หน่วยงานก็จะไปขอติดป้ายแสดงตัวในตลาดที่มีการดำเนินงานโดยประชาสังคมอยู่ก่อนแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวคงเป็นภาพสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องร่วมมือกันผลักดันแนวทางการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังและเข้าใจ และหากเราต้องการที่จะเห็นเกษตรกรรายย่อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขยิ่งขึ้น คงหนีไม่พ้นที่จะต้องลงมือทำงานหนักให้มากขึ้นหรือให้มากกว่าการติดป้ายแสดงผลงาน
aan surin : รายงาน