ตำบลบ้านในดงชุมชนเกษตรกรรมสร้างสุขภาวะ บนฐานต้นทุนการพัฒนาที่ยั่งยืน จากการต่อยอดการดำเนินการของกองทุนต่างๆ ในตำบลพร้อมยกระดับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมืองเพชรบุรี ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ภายใต้แนวคิดในการบริหารพื้นที่เพื่อสร้างสุขแบบมีส่วนร่วมดังแนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์” โดยการปรับวิถีชีวิตของชุมชนให้พร้อมสู่การขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะมีการพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในฐานะตำบลศูนย์เรียนรู้ (แม่ข่าย) ในการสร้างการเรียนรู้ขึ้นเป็นศูนย์จัดการเครือข่าย (เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘) มีกระบวนการพัฒนาตนเองและจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับตนเองและเครือข่าย ปัจจุบันในฐานะศูนย์ประสานงานรณรงค์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Focal Point) ได้เริ่มขับเคลื่อน ปฏิบัติการ ๔ สร้าง ๑ พัฒนา
มีเรื่องเล่าต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นประวัติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคำว่า “บ้านในดง” ได้มาจากลักษณะภูมิประเทศของตำบลแห่งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีลักษณะเขียวขจีบ้านเรือนถูกปกคลุมไปด้วยพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ผู้คนผ่านไปผ่านมามักมองไม่เห็นบ้านเรือนเพราะลักษณะเหมือนอยู่ในป่าในดง ตำบลบ้านในดง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เดิมเป็นตำบลที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตำบลมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียวประชาชนมีการจับจองพื้นที่เพื่อใช้ในการทำการเกษตร มีการอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ด้วยบริเวณพื้นที่ของตำบลมาบปลาเค้ามีบริเวณกว้างมาก ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่และติดต่อราชการต้องใช้เวลานานมาก เนื่องจากสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกเมื่อเกิดปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ทันท่วงที จึงทำให้นายสง่า ทนยิ้ม ซึ่งสมัยนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๘ ของตำบลมาบปลาเค้าได้เห็นความลำบากของชาวบ้านจึงได้จัดประชุมหารือกับประชาชนเพื่อการแยกตัวออกมาจากตำบลมาบปลาเค้าเป็นตำบลใหม่ ในระยะแรกมีคนสนใจไม่มากนัก เพราะไม่เข้าใจว่าจะเกิดประโยชน์อะไรแต่ด้วยความตั้งใจที่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างแท้จริงทำให้การดำเนินงานแยกมาเป็นตำบลบ้านในดงประสบความสำเร็จ โดยมีประกาศจากกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๔ ให้ตำบลบ้านในดงจึงได้แยกมาออกมาตั้งเป็นตำบลใหม่มีพื้นที่ปกครองหมู่บ้านจำนวนทั้งหมด ๖ หมู่บ้าน ปัจจุบันยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์และหลายคนรู้จักชุมชนแห่งนี้ในฐานะชุมชนผู้ผลิตกล้วยหอมคุณภาพชั้นเยี่ยมระดับต้นๆ ของประเทศ
ตั้งแต่ ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นยุคของการต่อยอดการพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใน จากการดำเนินกิจกรรม ในยุคเริ่มต้นได้พัฒนาสู่การสร้างความเข้มแข็งต่อยอดการดำเนินการของกองทุนต่างๆ ในตำบล การยกระดับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากต่างพื้นที่ การศึกษาแนวคิดเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาพื้นที่และการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ (อำเภอเมืองเพชรบุรี ในปีพ.ศ.๒๕๕๕) ซึ่งมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงทำความร่วมมือและได้จัดทำระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) และกระบวนการจัดทำวิจัยชุมชนเชิงชาติพรรณวรรณนาแบบเร่งด่วน (RECAP) ทำให้ชุมชนเห็นต้นทุนทุนและศักยภาพด้าน บุคลากร กลุ่มองค์กรหน่วยงาน และแหล่งประโยชน์ ในอื่นพื้นที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความรู้สึกรักและเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกันในการพัฒนาตำบล เช่น การจัดตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน, การตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านในดง, การสร้างจิตอาสาในการพัฒนาท้องถิ่น และการเชื่อมงานกับหน่วยงานภายนอกภายในพื้นที่ มีการเตรียมความพร้อมปรับวิถีชีวิตของชุมชนให้พร้อมสู่การขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะมีการพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในฐานะตำบลศูนย์เรียนรู้ (แม่ข่าย) ในการสร้างการเรียนรู้ผ่าน ๖ ระบบ ๒๘ แหล่งเรียนรู้ และได้จัดทำข้อเสนอโครงการเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. : สำนัก ๓) และได้ขึ้นเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ โดยได้ทำข้อตกลงเพื่อดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะในโครงการสร้างชุมชนน่าอยู่ มุ่งสู่นวัตกรรม เพื่อพัฒนาเครือข่ายเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ทีมทำงานตำบลบ้านในดง มีหลักคิดในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นระบบ โดยมีหน่วยงาน องค์กรทั้งระดับท้องถิ่นท้องที่ หน่วยงานราชการ และ องค์กรชุมชน ร่วมกันประชุมคิดค้นวางแผนเพื่อร่วม ปฏิบัติการ โดยใช้ทุนองค์ความรู้ทางสังคมในพื้นที่ (ใช้ข้อมูล RECAP) หลังจากนั้นสร้างกิจกรรมที่สำคัญเพื่อ นำมาสู่การลดเมา ลดอุบัติเหตุ เช่น สร้างกิจกรรมธรรมะในใจครอบครัวอบอุ่น, กิจกรรมเดินวิ่งสร้าง ครอบครัวต้นแบบ, ออกกำลังกาย, รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และควบคุมร้านค้าให้ปฏิบัติตามนโยบายและยัง พัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยการลดการดื่มลดอุบัติเหตุ ผลจากโครงการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทำให้ชุมชนสามารถทำงานโดย ไม่หวังพึ่งงบขององค์การบริหารส่วนตำบลเพียงด่านเดียว เกิดกลุ่มกิจกรรมจักรยาน, กลุ่มนักวิ่ง, กลุ่มตลาด สีเขียวเกษตรอินทรีย์ ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยตนเอง เกิดคณะทำงาน ๒๗ คน ที่ประกอบด้วย อบต., รพสต.โรงเรียน, วัด, รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานทีพร้อม มีการ กำหนดแผนขับเคลื่อนเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บรรจุอยู่ในแผน ๕ ปีขององค์การบริหารส่วนตำบล เป็นแนวทางและงบประมาณสำหรับขับเคลื่อนต่อไป มีผู้นำต้นแบบไม่เฉพาะแบบผู้ลดละเลิกแอลกอฮอล์ และมีผู้นำเข้มแข็งส่วนอื่นๆ มาร่วมอยู่ในวงพัฒนาเดียวกัน เช่น ผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ ผู้นำด้านจัดการขยะ ผู้นำตลาดเขียว และผู้นำกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ ที่พร้อมจะร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาชุมชน
การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายด้าน อุบัติเหตุลดลงได้จริง ผู้คนลดละเลิกแอลกอฮอล์ เกิดการตื่นตัวเรียนรู้ในด้านกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎหมาย เกิดความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยมีการนำกุศโลบายต่างๆ มาใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการรวมกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์และการจัดการปัญหาขยะร่วมกัน มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น การเกษตรอินทรีย์ การจัดการขยะ การปลูกและแปรรูปกล้วยหอม และสามารถพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งเกิดการส่งต่อบทเรียนและสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตำบลเครือข่ายที่เข้ามาเรียนรู้ในหลายด้าน เช่น การสร้างวิทยากร การสร้างนักวิชาการตำบล นักสื่อสาร นักจัดการข้อมูล ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในระยะยาวทั้งสิ้น ซึ่งทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมิใช่ความบังเอิญหากแต่เป็นกระบวนการทำงาน คือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและการทำงานเป็นทีมงานที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ โดยใช้ต้นทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง การพัฒนาจากระบบสั่งการและแผนการจากด้านบนย่อมไม่สามารถนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นได้จริง