พฤติกรรมของผู้บริโภคและพฤติกรรมของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ และใช้ประโยชน์ เราถึงจะช่วยเกษตรกรรายย่อยให้อยู่รอดได้ในยุคการตลาดสมัยใหม่
2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนทั่วโลกและโครงสร้างการตลาดโดย (ก) ทานเนื้อมากขึ้น จึงต้องปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารคน ซึ่งต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มากขึ้น (ข) ทานอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น และ (ค) ซื้ออาหารจากซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น (เนื่องจากกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น) โครงสร้างการตลาดจึงกลายเป็นการรวมศูนย์มากขึ้น ส่วนเหลื่อมการตลาด (หมายถึงส่วนต่างระหว่างที่ผู้บริโภคจ่ายกับที่เกษตรกรได้รับ) ก็เพิ่มมากขึ้น และในภาพรวมของเอเชีย โครงสร้างแบบรวมศูนย์ก็จะให้ความสนใจกับทำธุรกิจกับเกษตรกรรายใหญ่มากกว่าเกษตรกรรายย่อย
ดังนั้น ตลาดอาหารที่จะเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียคือ ตลาดสินค้าอาหารสำหรับคนในเมือง (ไม่ใช่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกแบบดั้งเดิมอีกต่อไป) ซึ่งจะมีการจัดการในห่วงโซ่คุณค่าหรือ Value Chain ที่แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา มีเกษตรกรรายย่อยจำนวนไม่น้อย (แต่ไม่ใช่ส่วนมาก) ก็ได้ปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่คุณค่าที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ด้วยการนำเสนอสินค้าที่มีคุณค่ามากขึ้น (ในแง่มุมต่างๆ) และได้มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นการตอบแทน
จากการเฝ้าฟังการประชุมวิชาการของสมาคมนักเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งเอเชียที่บังคลาเทศมา 3 วัน ทำให้ผมพอสรุปเอาเอง ถึงคำสำคัญที่จะเป็นทางออกทางด้านการตลาดสำหรับเกษตรกรรายย่อยในเอเชียได้ 6 คำครับ
1. Clean ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการบริโภคอาหารมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการผลิตอาหารของเกษตรกรรายย่อยแบบเกษตรยั่งยืนสามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มนี้ได้ดี แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้บริโภคก็จะต้องการมาตรฐานความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย แต่ปรากฎว่า ผลการศึกษาจากหลายประเทศยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองมาตรฐานต่อหน่วยของเกษตรกรรายย่อยจะสูงกว่าเกษตรกรและบริษัทรายใหญ่มาก ถ้าคอขวดตรงนี้ไม่อาจทะลวงออกได้ คำว่า clean ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคสำหรับเกษตรกรรายย่อยเองก็ได้
2. Green คำว่ากรีนในทีนี้ หมายถึงโอกาสใน 3 ลักษณะ (ก) ผู้บริโภคให้ความสนใจกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะหากสินค้านั้นมาควบคู่กับการออกแบบที่สร้างสรรค์. (ข) เกษตรกรรายย่อยมีทางเลือกมากขึ้นในใช้ผลผลิตเหลือใช้ ในการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน หรือในการผลิตสินค้าและเทคโนโลยี่ต่างๆ สู่ตลาด เช่น ปุ๋ยไส้เดือน ก๊าซชีวภาพ เพื่อเสริมกับสินค้าหลักที่ตนเคยผลิตเดิม และ (ค) แนวคิดเรื่องการจ่ายเงินให้กับผู้ที่รักษาและเพิ่มพูนพื้นที่เกษตร ซึ่งสามารถให้บริการทางระบบนิเวศแก่สังคมส่วนรวม (หรือ payment for ecosystem service) กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งจากรัฐและจากกลไกแบบสมัครใจ ซึ่งทั้งสามโอกาสนี้ เกษตรกรรายย่อยสามารถทำได้ดีกว่ารายใหญ่ แต่สิ่งที่เกษตรกรรายย่อยต้องการคือ ความรู้เชิงเทคนิคและการสื่อสารทางการตลาด เพื่อบอกแก่คู่ค้า แก่ผู้บริโภค และแก่รัฐ
3. Lean (หมายถึง ประหยัดและมีประสิทธิภาพ) เพราะการแข่งขันกันในห่วงโซ่อุปทานค่อนข้างเข้มข้น การจัดการตลาดของเกษตรกรรายย่อยและคู่ค้าจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ต้องลดการสูญเสียลงให้ได้ ลดระยะเวลารอคอยลงให้ได้ ลดต้นทุนในการเก็บรักษาและการตลาดลงให้ได้ ซึ่งเกษตรกรรายย่อยต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ 3 อย่างคือ เทคโนโลยีและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีการขนส่งสินค้า และเทคโนโลยีสารสนเทศ
4. Keen หมายถึง ขีดความสามารถในการจัดการของเกษตรกรรายย่อย เพราะผู้ทำหน้าที่คนกลางตลาดที่แข่งขันสูง และตัวผู้บริโภคเองต้องการจะทำธุรกิจกับผู้ที่มีขีดความสามารถในการจัดการสูง เพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรมของตนลง เกษตรกรรายย่อยจึงต้องมีขีดความสามารถในการจัดการสูงขึ้นจึงจะอยู่รอดในระบบตลาดที่แข่งขันเข้มข้นมากขึ้น แต่เกษตรกรรายย่อยในเอเชียส่วนมากไม่มีประสบการณ์ในการจัดการตลาดมาก่อน ดังนั้น การพัฒนาขีดความสามารถด้านนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ในที่ประชุมได้เสนอผลการศึกษาที่ชี้ใ้ห้เห็นว่า ผลลัพธ์ของการเพิ่มศักยภาพโดยการฝึกอบรมเกษตรกรรายย่อยในเอเชียยังคงต่ำมาก ฉะนั้นการพัฒนารูปแบบของการพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการที่ดีกว่าการอบรมในห้องเรียน (เช่น โรงเรียนเกษตรกร โรงเรียนชาวนา ในบ้านเรา) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
5. Team การรวมกลุ่มหรือการร่วมมือกันด้านการตลาดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผลการศึกษาหลายประเทศออกมาตรงกันว่า การรวมกลุ่มหรือการร่วมมือกันคือ คำตอบสำหรับความอยู่รอดทางการตลาดของเกษตรกรกรายย่อย เพราะจะช่วยลดต้นทุนทางการตลาดลงมา จนสามารถแข่งขันหรือเป็นคู่ค้ากับรายใหญ่ได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสในการหาตลาดใหม่ๆ ด้วย แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว เกษตรกรรายย่อยในเอเชียส่วนมากยังมิได้รวมตัวกันทางการตลาด. และนักเศรษฐศาสตร์เกษตรก็ยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจมากนักว่าจะทำให้เกษตรกรรายย่อยรวมตัวกันให้มากขึ้นได้อย่างไร? (รวมถึงผมเองด้วย) แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะรู้จักทุนทางสังคม (หรือ social capital) มากว่าสองทศวรรษแล้วก็ตาม
6. Finale (ออกเสียงว่า ฟิน แบบวัยรุ่น) หมายถึง “ความรู้สึกสมบูรณ์แบบ” (เหมือนฉากจบแบบสมบูรณ์แบบ) ของผู้บริโภคจะมีความสำคัญมากขึ้นในการตัดสินใจและการให้คุณค่าของผู้บริโภค เกษตรกรรายย่อยจึงจำเป็นต้องถ่ายทอดเรื่องราว ภูมิปัญญา บรรยากาศ สุนทรียภาพ และจิตวิญญาณที่ตนมีในการเสริมหนุนคุณค่าของสินค้าที่ตนมี ผ่านการสัมผัสและสัมพันธ์กับลูกค้าในจุดต่างๆ ที่ลูกค้าสามารถมีปฏิสัมพันธ์ด้วย (หรือ touching points) ตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุ จุดขาย ช่องทางการสื่อสาร รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย ซึ่งหากทำได้ ผลตอบแทนของเกษตรกรรายย่อยจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ปัญหาคือ การจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องใช้ทักษะและความสามารถในการดำเนินการไม่น้อยเช่นกัน
แน่นอนว่า เกษตรกรรายย่อยจำนวนไม่น้อย คงไม่สามารถดำเนินการตามทั้งหกข้อข้างต้น (หรือแม้กระทั่งบางข้อได้) เพราะฉะนั้น ทางออกที่เป็นไปได้ หากไม่แข่งขันในตลาดหลัก เท่าที่ฟังมาจึงมีอยู่ 3 ทางคือ
หนึ่ง ทำฟาร์มเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรประณีต แล้วเน้นการบริโภคในครัวเรือนและตลาดท้องถิ่นแทน ซึ่งในเมืองไทยก็มีการทำกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่วงหลังงบประมาณสนับสนุนลดน้อยลงมาก (แต่นโยบายจากลมปากยังคงเดิม)
สอง เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเกษตรแบบพันธะสัญญา แต่ผลการศึกษาที่นำเสนอในการประชุมในครั้งนี้ มีทั้งที่เป็นทางบวกต่อเกษตรกร และทางลบต่อเกษตรกร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการต่อรองในเรื่องราคาและการกระจายภาระความเสี่ยงระหว่างเกษตรกรกับบริษัท ดังนั้น ถ้าจะยึดทางเลือกนี้ต้องรีบดันกฏหมายว่าด้วยการทำสัญญาที่เป็นธรรมในการเกษตรแบบนี้ออกมาโดยเร่งด่วน
และสามคือ การพึ่งพารายได้นอกฟาร์ม และรายได้นอกภาคการเกษตร ซึ่งส่วนนี้เกษตรกรรายย่อยของไทยทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้เห็นเพิ่มเติมขึ้นจากการประชุมครั้งนี้คือ การยกระดับการรับจ้างบริการทางการเกษตร(เช่น การดำนา การเก็บเกี่ยวผลไม้) จากแรงงานรับจ้าง มาเป็นธุรกิจที่ให้บริการอย่างมืออาชีพ ซึ่งในเรื่องนี้ เมืองไทยยังทำกันไม่มากนักครับ แต่น่าจะมีเพิ่มขึ้นภายใน 5-10 ปีนี้ ส่วนตัวผมก็อยากเห็นครับ เพราะข้อมูลชี้ว่า กลุ่มคนที่จนที่สุดในประเทศไทยคือ คนงานการเกษตรไม่ใช่เกษตรกรครับ
งานนี้ได้โจทย์กลับไปคิดต่อที่บ้านเราเพียบเลยครับ ดีใจที่ได้ฟังคนประเทศอื่นถกเรื่องเดียวกันกับที่เราถกกันในประเทศไทย และหนักใจที่ทุกประเทศก็ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนสำหรับเกษตรกรรายย่อย นอกจากแนวคิดที่ผ่านการทดลองมาระดับหนึ่งและกรณีศึกษาที่น่าจะไปขยายผลต่อไป
ร่วมกันเรียนรู้ แบ่งปัน และค้นหากันต่อไปครับ