เมล็ดข้าวคืนนา คือเรื่องราวประสบการณ์ภาคสนามจากท้องไร่ท้องนาของผู้เขียนและชาวนาในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดสุรินทร์ ที่ต้องการจุดประเด็นสื่อสารเรื่องราวของ “เมล็ดพันธุ์” หรือ “เชื้อพันธุ์” หรือ “พันธุกรรมพื้นบ้าน” ซึ่งในอดีตเคยมีอยู่อย่างหลากหลายมากมาย ในความหมายที่มีชาวบ้านหรือผู้คนในชนบทและชุมชนชาวนาตลอดจนความเป็นท้องถิ่นพื้นบ้านผสมผสานอยู่อย่างมีนัยสำคัญ เมล็ดข้าวคืนนาจึงหมายถึงเรื่องราวของชาวบ้านผู้ซึ่งเป็นชาวนากลุ่มเล็กๆกับการลุกขึ้นมาหวงแหนรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านอย่างมีแบบแผนมีกระบวนการและมีแนวคิดแนววิเคราะห์ในการอนุรักษ์และพัฒนาฐานทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้าน อย่างเป็นระบบและเอาจริงเอาจังตามกำลังสามารถที่ตนพึงมี โดยเฉพาะพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน งานเขียนชิ้นนี้จะขอเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่เช่นเดียวกับงานวิชาการจำนวนไม่น้อยในการยืนยันถึงวิถีชีวิตของผู้คนนับแต่อดีตและยืนยันถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายได้ว่า เมล็ดพันธุ์หรือพันธุกรรมพื้นบ้านนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันกับวิถีชีวิตชุมชนชาวนาอย่างมิอาจจะแยกออกจากกันได้ และหากเมื่อใดที่ชุมชนชนบทและผู้ประกอบสัมมาชีพด้านการเกษตรไม่สามารถพึ่งพาตนเองในด้านเมล็ดพันธุ์ได้อีกต่อไป นั้นก็อาจจะนับได้ว่าสังคมไทยได้เดินผ่านพ้นยุคสมัยที่เคยเต็มพร้อมและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหารไปเสียแล้ว
และในท้ายสุดของบทเริ่มต้น ก็ต้องขอขอบคุณชาวนาตัวเล็กในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดสุรินทร์ และคนทำงานในหมู่บ้านที่ยากจะกล่าวถึงได้หมดในพื้นที่อันจำกัด ที่ได้ร่วมกันคิดร่วมกันแลกเปลี่ยน ร่วมกันออกแรงสร้างรูปธรรมในไร่นาและสร้างงานเขียนชิ้นนี้ขึ้น จนได้เรื่องราวมากมายพอสมควรนับตั้งแต่การวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติทางนิเวศน์ไปจนถึงประสบการณ์ในเชิงเทคนิคของการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมท้องถิ่น จึงหวังเพียงว่าข้อมูลองค์ความรู้และแง่มุมทางความคิดในหนังสือเล่มนี้จะทำหน้าที่บอกกล่าวเรื่องราวของผู้คนในท้องทุ่งและเมล็ดพันธุ์แห่งอิสรภาพด้วยตัวมันเองต่อไปและก่อเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านได้บ้างแม้เพียงเล็กน้อย
อารัติ แสงอุบล : ผู้เขียน
ราคา 100 บาท
นำเสนอประสบการณ์การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน
พร้อมข้อมูล ภาพถ่าย ลักษณะสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
จำนวน ๑๓๕ หน้า / มีภาพสีประกอบลักษณะพันธุ์ ๒๔ หน้า
(สั่งซื้อได้ที่มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ : 044-040-258