เมื่อเกษตรกรเรียกยูปอฟ (UPOV) ว่า ‘ผีปอบ’ ข้อกังวลในเอฟทีเอไทย-อียู
วันนี้ (25 พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยหอการค้า มีการสัมมนาเรื่อง นโยบายพืชจีเอ็มโอและการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ 1991 เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชการกับเกษตรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เหตุที่มีการจัดคุยเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศชื่อแปลกๆ นี้โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรก็เพื่อทำความเข้าใจและรับมือกับสิ่งที่คาดว่าจะ มากับข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรปที่กำลังเจรจา ซึ่งจะส่งผลให้มีการแก้กฎหมายภายในเพื่อให้รองรับความตกลง และทั้งหมดจะส่งผลต่อเกษตรกรและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ต้นเดือนธันวาคมนี้จะมีการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู รอบ 3 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม วงเสวนานี้นำเสนอข้อกังวลว่าหนึ่งในข้อเจรจาจะมีการผลักดันให้ไทยเข้าเป็น ภาคีในอนุสัญญายูปอฟ 1991 เพื่อเพิ่มอำนาจผูกขาดด้านสิทธิบัตรให้บรรษัท แลกเปลี่ยนกับที่ไทยได้ต่อสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) UPOV (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants) คือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นการตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์ พืชที่มีลักษณะแตกต่างจากกฎหมายสิทธิบัตร แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งจนในที่สุดความตกลง UPOV1991 ก็ใกล้เคียงกับการผูกขาดโดยระบบสิทธิบัตร อนุสัญญานี้ใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1961 ปัจจุบันมีประเทศเป็นภาคี 71 ประเทศ (ณ ปี 2555) ที่น่าสนใจคือ ประเทศในยุโรปหลายประเทศก็ไม่ได้เข้าเป็นภาคี UPOV1991 เช่น อิตาลี โปรตุเกส นอร์เวย์
การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้ ส่งผลให้ต้องแก้ไขหรือกระทั่งยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะมีผลกระทบหลักๆ คือ
1. ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์ไปเพาะปลูกต่อ
2. บริษัทขยายเวลาผูกขาดพันธุ์พืชเพิ่มขึ้น 8 ปี
3. เมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 2-6 เท่า ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มจาก 28,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 84,000-143,000 ล้านบาทต่อปี
4.เกษตรกรที่ละเมิด มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 400,000 บาท
5.บรรษัท ข้ามชาติจดสิทธิการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ได้ ซึ่งไทยมีกศักยภาพทางเศรษฐกิจในด้านนี้เป็นมูลค่าสูงถึง 300,000-500,000 ล้านบาทต่อปี
6.ต้องขยายให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต (หน่วยพันธุกรรม เซลล์ เนื้อเยื่อจุลินทรีย์, พืช, สัตว์)
ทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปโดยย่อของไบโอไทย หนึ่งในเจ้าภาพจัดงาน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากไบโอไทย กล่าวขยายความตัวเลขความเสียหายที่ทางองค์กรศึกษาและคาดการณ์ว่า เงื่อนไขว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มากับข้อตกลงการค้าเสรี นั้น ในด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะแวดวงการผลิตยาเคยทำวิจัยพบแล้วว่าการที่มหาอำนาจ เรียกร้องให้ขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรยาและขยายการคุ้มครองไปถึงข้อมูล ยา จะทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิบัตรพันธุ์พืขยังไม่มีตัวเลขผลกระทบเหล่านี้ จึงมีการทำการศึกษาวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เพื่ออย่างน้อยจะนำเสนอให้สาธารณะและหัวหน้าคณะเจรจาได้ทราบ ประเด็นนี้สำคัญมากเนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายชีวภาพมากที่สุด ของโลก สัดส่วนของพืชและสิ่งมีชีวิตของเราอยู่ระดับที่สูงมาก เช่น สัตว์ตระกูลปลา หรือนก นับเป็น 10% ของสายพันธุ์ที่มีในโลก เชื้อราคิดเป็น 8% ทั้งที่พื้นที่ประเทศไทยมีไม่ถึง 1% ของโลก
ตลาด เมล็ดพันธุ์พืช 9 ชนิด (ประเมินจากพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและผักต่างๆ) ขณะนี้มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว 2 หมื่นล้านบาท การเข้าเป็นภาคียูปอฟจะส่งผลต่อราคาเมล็ดพันธุ์พืชอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกาเองหลังใช้ฎหมายยูปอฟราคาเมล็ดพันธุ์ก็สูงขึ้น 2-3 เท่าตัว ที่สำคัญ หากเข้าเป็นภาคียูปอฟ หลักเกณ์การแบ่งปันผลประโยชน์ที่ประเทศเจ้าของพันธุกรรมควรจะได้ก็จะหายไป ด้วย เปรียบเทียบกับประเทศอย่างอินเดียที่ใช้กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ พบว่าเขาตั้งสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5-10% วิฑูรย์กล่าวว่า โดยรวมแล้วการศึกษาพบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของเกษตรกรรวมกับมูลค่าการเสียโอกาสของเกษตรกร จะอยู่ที่ 60,000 –160,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่สิทธิจีเอสพีกับสหภาพยุโรปอยู่ที่ราว 34,000 ล้านบาท โดยผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นผู้ประกอบการที่เป็นนักธุรกิจรายใหญ่ หรือนักลงทุนต่างชาติที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย
นอกเหนือจากความกังวลดังกล่าวแล้ว นักวิชาการยังเชื่อว่า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชที่มีอยู่ของไทยนั้นดีอยู่แล้ว
รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เกิดขึ้นมาจากความพยายามสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชกับ การรักษาสิทธิของเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนทาง เศรษฐกิจ โดยมีมิติการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศด้วย กฎหมายดังกล่าวมีขึ้นตามเงื่อนไขการเป็นภาคีสมาชิกองค์กรการค้าโลก ซึ่งให้สิทธิในการมีระบบกฎหมายเฉพาะในการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับ พันธุ์พืช
ขณะ นี้มีความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เนื่องมากจากนักปรับปรุงพันธุ์พืชที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ต้องการได้สิทธิ มากกว่าที่กฎหมายให้ไว้ และมีข้าราชการบางส่วนร่วมผลักดัน แต่ขณะนี้การแก้ไขกฎหมายชะลออยู่กรมวิชาการเกษตร สิ่งที่พยามยามแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชและจะมีผลต่อเกษตรกร อาทิ ‘พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น’ ซึ่งเหลืออยู่น้อย คณะผู้ร่างกฎหมายเล็งเห็นว่าจะต้องสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนที่ดูแลอยู่เพื่อ ไม่ให้พันธุ์พืชเหล่านี้สูญหายไป แต่ร่างกฏหมายใหม่แก้ให้มีการคุ้มครองที่น้อยลง ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับลดลง เช่น พริกกระเหรี่ยงที่เป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็จะกลายเป็นเพียง พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปในกฎหมายที่แก้ใหม่
อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 มีเนื้อหาที่ดี เพราะเป็นการประนีประนอมระหว่างการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและสิทธินักปรับปรุง พันธุ์ แต่ผ่านมา 14 ปีกลับคืบหน้าเฉพาะเนื้อหาในส่วนการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือพันธุ์พืชของ บริษัท ขณะที่ในส่วนพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น กลับไม่มีการทำงานเพื่อให้เนื้อหาในกฎหมายเกิดความงอกเงยขึ้นมาเลย เขาเห็นว่า เรื่องนี้เกษตรกรต้องยืนยันไม่ยอมรับกฎหมายที่จะแก้ไขใหม่ ต้องสู้กับวาทกรรมที่บริษัทเมล็ดพันธุ์อธิบายกับสังคมว่า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชปฏิบัติไม่ได้จริง ไม่เป็นสากล ไม่ส่งเสริมให้ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาไปมากควรได้รับสิทธิเพิ่ม เกษตรต้องมีเหตุผลของตัวเองมาอธิบายกับสังคม เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่สาธารณะ ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างเกษตรกรกับฝ่ายบริษัทเมล็ดพันธุ์ใครจะอธิบายและสร้าง แนวร่วมในสังคมได้หนักแน่นกว่ากัน
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จาก ไบโอไทยกล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรมีร่างแก้ไขกฎหมายอยู่ในมือ และร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาที่ไปไกลกว่าอนุสัญญายูปอฟที่ยุโรปนำมาวางบน โต๊ะเจรจาของหลายประเทศรวมทั้งอินเดียเสียอีก สมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ของไทยเองก็มีเป้าหมายในการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของ เอเชียแปซิฟิค (Seed Hub) โดยมีข้อเสนอหลักคือการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนปรับปรุงพันธุ์ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเกรงว่าจะมีการดึงเอาเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ไปไว้ที่ศูนย์ทั้งหมด
“การ เจรจากับอียู คาดว่ากรอบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะถูกนำเสนอในรอบ 4 ซึ่งจะมีขึ้นในประเทศไทย ยังไม่มีการนำเสนอในการเจรจารอบที่ 3 ที่บรัสเซลส์ในสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะมีการนำมาถกเถียงกันจริงๆ จังๆ ในการเจรจารอบที่ 5” กิ่งกรกล่าว อย่างไรก็ดี การเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในด้านการเกษตรไม่ได้มีเฉพาะกับยุโรป แต่มีในข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership Agreement: TTPA) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องการคุ้มครอทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง สิ่งมีชีวิต-ไม่มีชีวิต
เกษตรกร ที่ทำเกษตรอินทรีย์หลายคนกล่าวแสดงความเห็นภายหลังรับฟังข้อมูล และเรียกกฎหมายนี้ใหม่ว่า “ผีปอบ” แทนที่จะเป็น “ยูปอฟ” อาจเพราะดูจากลักษณะการควักเอาพันธุ์พืชของพวกเขาไป และนั่นหมายถึง “ชีวิต” ของพวกเขาด้วย
ท้าย การเสวนา มีการระบุถึงความพยายามต่อสู้ในเรื่องนี้ของเกษตรกร นั่นคือ การเดินหน้าปฏิบัติการว่าด้วยการคัดเลือก ผสมข้ามพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ และเก็บรักษาฐานพันธุกรรม รวมทั้งทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกหรือเกษตรอินทรีย์ทำกันอยู่ แล้วในเวลานี้ แต่มุ่งมั่นจะให้เข้มข้น เข้มแข็ง และเชื่อมโยงเครือข่ายให้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งหมดก็ไม่มีอะไรมาก แค่มีจุดหมายอยากมีอิสรภาพทางพันธุกรรม สำหรับเกษตรกรมันไม่ใช่จุดหมายใหญ่โตอะไร แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ และอนาคตจะเป็นอย่างไร
โดย : ประชาไท ออนไลน์
26 November 2013