ความเป็นมา
มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ เริ่มก่อตั้งมาจาก โครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรสุรินทร์และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ อันมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเกษตรกรรมในจังหวัดสุรินทร์ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา สามารถสร้างรูปธรรมของการผลิตเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรทั้งการผลิตและการจำหน่าย ส่งผลให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการและแก้ปัญหาพื้นฐานของการเกษตรได้ พร้อมทั้งการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้บริโภค ทำให้เห็นความสำคัญแก่การบริโภคผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพ โดยเป็นโครงการพัฒนาชนบทที่มิได้หวังผลกำไร
ประวัติความเป็นมา
คสป.สุรินทร์เริ่มดำเนินงานพัฒนาชนบทมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น บทบาทงานที่ คสป.ส่งเสริม แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ
ระยะเริ่มแรก (พ.ศ.2526-2528) จะเป็นงานสนับสนุนกองทุนให้แก่กลุ่มเกษตรกรทำนาทั้ง 86 กลุ่ม ในจังหวัดสุรินทร์ โดยมีชื่อองค์กรว่า “กองทุนพัฒนาท้องถิ่นสุรินทร์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินงานจาก “กองทุนพัฒนาแคนาดา” หรือ L-DAP ต่อมาไม่นานนักก็มีการสรุปบทเรียนและวิเคราะห์ว่างานสนับสนุนทุนเพียงอย่างเดียวให้แก่กลุ่มเกษตรกรทำนาไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มองค์กรชาวบ้านได้ และเห็นว่าองค์กรชาวบ้านมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม ด้วยเหตุนี้และประกอบด้วยแนวความคิดที่จะแก้ปัญหาที่มีอยู่ทำให้มีการจัดทำโครงการเพื่ออบรมเสริมความรู้เรื่องการบริหารจัดการ เช่น เรื่องบัญชีและการเงิน ให้แก่กลุ่มเกษตรกรทำนา โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการเสริมประสิทธิภาพกลุ่มเกษตรกรสุรินทร์”
ระยะที่สอง (พ.ศ.2529-2534) การดำเนินงานทั้งในเรื่องของการสนับสนุนทุนหมุนเวียนและการเสริมความรู้เรื่องการบริหารจัดการ เมื่อทำผ่านมาและมีการประเมินผลจากทีมประเมินผล มีข้อเสนอแนะประเด็นที่เห็นพ้องกัน ทั้งจากกรรมการ เจ้าหน้าที่ และผลการประเมินจากทีมประเมินว่า แนวงานที่ คสป.สุรินทร์ทำอยู่ยังไม่ตอบสนองต่อเรื่องความเข้มแข้งขององค์กรชาวบ้านและปัญหาของเกษตรกรสมาชิก รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่กว้างและจำนวนมาก คือ กลุ่มเกษตรกรทำนาทั้ง 86 กลุ่ม ใน จ.สุรินทร์ ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของโครงการ 3 คน และมีประสบการณ์งานพัฒนาในระดับเป็นอาสาสมัครจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ส่งผลให้มีการจัดปรับทิศทางการทำงานอีกเป็นครั้งที่สอง โดยมีทิศทางงานและกิจกรรมที่มีสาระสำคัญๆ กล่าวคือ เน้นเรื่องความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านเหมือนเดิม แต่ลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายจาก 86 กลุ่มเกษตรกรทำนามาอยู่ที่ 4 กลุ่มเกษตรกรทำนา (กลุ่มฯคอโค-ตระแสง, กลุ่มฯแกใหญ่, กลุ่มฯสำโรง และกลุ่มฯโคกกลาง) ปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาเกษตรกรระดับครอบครัวและระดับชุมชน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพึ่งตนเองของเกษตรกร กิจกรรมระยะนี้จะประกอบด้วย เกษตรผสมผสาน ธนาคารข้าว ออมทรัพย์ ร้านค้า กลุ่มรับซื้อข้าวเปลือก อิฐชนบท และเริ่มงานค้าข้าวกับ กลุ่ม CLARO กระบวนการทำงานให้ความสำคัญกับเกษตรกรในการวิเคราะห์ปัญหาและทางออก ทั้งในระดับครอบครัว-ชุมชน มีการศึกษาเรื่องหนี้สินของชุมชนและ ธกส. นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อโครงการจาก “โครงการเสริมประสิทธิภาพกลุ่มเกษตรกรสุรินทร์” มาเป็น “โครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์” จนถึงปัจจุบันนี้ การทำงานในช่วงนี้ได้รับการสนับสนุนจาก L-DAP และ Christian Aids
ระยะที่สาม (พ.ศ.2535-2547) อันเนื่องมาจากการทบทวนบทเรียนขององค์กรและการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาของสังคมและชุมชน ด้านบทเรียนขององค์กร การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านเป็นทิศทางหลักที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาของชุมชน แต่เกษตรกรยังมีปัญหาด้าน เศรษฐกิจ แนวคิด เกษตรผสมผสาน ที่เน้นทำอยู่ทำกิน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องระบบตลาด ในขณะนี้เกษตรกรอยู่ในสภาพที่มีหนี้สิน มีค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องการผลิตและการบริโภค การศึกษาของบุตรหลาน สถานการณ์ของสังคมนั้นก็เป็นยุคที่เศรษฐกิจฟองสบู่เฟื่องฟู เกษตรกรส่วนใหญ่ไหลเข้ามาขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งถูกผลักจากชุมชนและแรงดูดจากเมือง นอกจากนั้นผลของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสารเคมีอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบก่อให้สังคมต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีพายุถล่มที่กะทูนและคีรีวง ดินเสื่อมคุณภาพต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น แนวคิดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจจากสังคมทั้งในระดับประเทศและสังคมโลก ประกอบกับแนวคิดและรูปธรรมของเกษตรทางเลือกอันเป็นวิถีการผลิตที่พึ่งตนเองและเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมก็ปรากฏขึ้นในสังคมเช่นกัน จากเหตุดังกล่าวจึงนำมาสู่การปรับแนวงานของ คสป. ในปัจจุบันมีการส่งเสริมเกษตรทางเลือกทั้งการพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด และเครือข่ายผู้บริโภค แต่ยังให้ความสำคัญกับองค์กรชาวบ้านเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งการสนับสนุนองค์กรชาวบ้านในระดับเครือข่ายด้วย โดยการดำเนินงานที่ต่อเนื่องนี้ได้การสนับสนุนจากองค์กร TACAP ของสถานทูตแคนาดา และองค์กร MISEEREOR แนวทางการทำงาน คสป.ได้สะสมบทเรียนการทำงานพัฒนากับเกษตรกรรายย่อย งานองค์กรชาวบ้าน งานพัฒนาระบบเกษตรทางเลือก งานด้านตลาดทางเลือกเพื่อสังคมและงานรณรงค์เชิงนโยบาย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การทำงานพัฒนาที่ยกระดับขึ้น โดยยังคงเน้นการทำงานกับเกษตรกรรายย่อย และขยายผลให้มีปริมาณของเกษตรกรที่ยากจนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในงานพัฒนา รวมถึงการขยายผลการทำงานไปสู่กลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานเกษตรกร การสร้างความเข้มแข็งขององค์ชาวบ้าน ผู้นำและเกษตรกรในมิติจิตสำนึกอุดมการณ์ชาวนา การพัฒนาและยกระดับวิถีการผลิตจากนาอินทรีย์สู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเน้นการสร้างต้นแบบที่หลากหลายให้เข้มข้น เช่น ต้นแบบการใช้ที่ดินน้อย การเสริมศักยภาพตลาดทางเลือก ซึ่งเน้นทั้งการสร้างความเข้มแข็งขององค์กร และสร้างกระบวนทัศน์ตลาดเพื่อนตลาดสุขภาพ การเป็นเวทีสื่อสารปัญหาและวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยสู่ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนารูปแบบตลาดอื่นๆขึ้นมาด้วย การทำงานพัฒนาแนวคิดและจิตสำนึกของผู้บริโภค เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องคุณค่าของอาหารกับสุขภาพ ตลาดทางเลือกและการจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเกษตรกรและผู้บริโภค อันนำไปสู่การรณรงค์เขยายผลทางเลือกการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหญิง-ชายในงานพัฒนา
ระยะที่สี่ (2547-ปัจจุบัน) เป็นยุคที่มีการปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงาน โดยเน้นการยกระดับและเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรในภาคชนบทและผู้บริโภคในภาคเมืองผ่านการจัดการตลาดในท้องถิ่น (ตลาดสีเขียวและร้านข้าวหอม) มีการทำงานกับกลุ่มผู้บริโภคและดำเนินกิจกรรมเพื่อการสรรค์สร้างชุมชนสีเขียวเพื่อการเกื้อกูลและสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน ผ่านการบริโภคและความเป็นมิตรระหว่างกัน พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงภาคีความร่วมมือในการดำเนินงานทั้งภาครัฐและท้องถิ่นในการทำงานร่วมกัน